รู้จักปลายี่สกไทย
ถิ่นกำเนิด
ปลายี่สกมี 2 ชนิดคือ ปลายี่สกไทย และปลายี่สกเทศ สำหรับปลายี่สกไทย เป็นปลาน้ำจืดที่พบในแม่น้ำโขงและเป็นปลาที่หายากอีกชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น ที่แม่น้ำโขงจังหวัดหนองคาย เรียก “ปลาเอิน” หรือ “ปลาเอินคางหมู” ทางอีสานทั่วไปเรียกปลา อีสก ปลาเอิน ปลาสะเอิน ปลาเอินตาแดง ในท้องที่บางแห่งเรียกปลาชนิดนี้ว่า “ปลายี่สกทอง” “กะสก”หรือ “อีสก” บริเวณแม่น้ำน่าน เรียก “ปลาชะเอิน” ภาคกลางส่วนใหญ่เรียกว่า ปลายี่สก ปลายี่สกไทย ภาคเหนือ เรียกปลา ยี่สกทอง ปลา อีสก ปลากะสก ปลาเสือ
ปลายี่สกไทย พบในน้ำจืดขนาดใหญ่ เนื้อออกสีเหลือง เนื้อละเอียด รสชาติ มัน หวาน อร่อย หนังหนา เกล็ดใหญ่ตามขนาดปลา จึงมักเป็นที่นิยมในการทำอาหารหลากหลายประเภท จึงเป็นอีกหนึ่งปลาที่เกือบจะสูญพันธ์ุ
ปลายี่สกไทย มีเผ่าพันธุ์เชื้อสายเดียวกับปลาตะเพียน เช่นเดียวกับปลาตะโกก ปลากะโห้ ปลานวลจันทร์น้ำจืด และปลาสร้อย ในภาคกลางพบปลายี่สกอาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำป่าสัก แควน้อย แควใหญ่ ภาคเหนือพบมากที่แม่น้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบในแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย ถึงจังหวัดอุบลราชธานี เคยพบมากในจังหวัดหนองคาย และจังหวัดนครพนม ในต่างประเทศ เคยพบในประเทศมาเลเซีย และประเทศลาว กัมพูชาและเวียดนามด้วย ตามธรรมชาติ ปลายี่สกไทย เป็นปลาที่กินอาหารได้ทั้งพืช และสัตว์ มีอาหารสำคัญ คือ สาหร่าย และพืชน้ำต่างๆ กุ้งหอย ลูกปลาขนาดเล็ก และแมลงต่างๆ
อุปนิสัยปลายี่สกไทย
ปลายี่สกไทย เป็นปลาขนาดใหญ่ มักอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ ที่พื้นท้องน้ำเป็น กรวดทราย มีระดับน้ำลึกราวๆ 5-10 เมตร น้ำเย็นใสสะอาด จืดสนิท และเป็นบริเวณที่น้ำไหล เป็นวังน้ำกว้าง มีกระแสน้ำไหลวน ชาวประมงมักพบลูกปลารวมกันอยู่เป็นฝูงตรงบริเวณที่เป็นอ่าวและเป็นพื้นโคลนที่มีความหนาประมาณ 10-20 เซนติเมตร ในช่วงเดือนตุลาคมน้ำเริ่มลด พ่อแม่พันธุ์ปลายี่สกไทยจะเริ่มว่ายทวนขึ้นไปเหนือน้ำเพื่อวางไข่ในลำน้ำสาขา หรือพื้นที่ที่เหมาะสมในการวางไข่ มีต้นไม้แหล่งอาหารที่เรียกว่า “บ้านปลา” และจะกลับถิ่นเดิมในเดือนพฤษภาคม หรือในช่วงที่น้ำเริ่มมีระดับสูงขึ้นเพื่อพากันไปอาศัยตามห้วยวังที่มีน้ำลึก กระแสน้ำไหลคดเคี้ยว พื้นดินเป็นดินทรายและกรวดหิน เป็นท้องทุ่ง (คุ้ง) หรือวังน้ำที่กว้าง ชอบความสงบ หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอดมา ซึ่งทางวิชาการจัดให้ปลายีสกไทย เป็นปลาอพยพ พบตามฤดูกาลเท่านั้น โดยเฉพาะในแม่น้ำโขง นายบุญส่ง ศรีเจริญธรรม ผู้เชี่ยวชาญกรมประมงระบุว่า ปลาเอินเป็นปลาอพยพพบในแม่น้ำโขงบริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร
ลักษณะรูปร่างปลายี่สกไทย
ปลายี่สกไทย มีลักษณะเด่นคือ สีของลำตัวเป็นสีเหลืองนวล ลำตัวค่อนข้างกลมและยาว บริเวณด้านข้างมีแถบสีดำข้างละ 7 แถบ พาดไปตามความยาวของลำตัว ลายตามลำตัวเหล่านี้จะปรากฏเมื่อลูกปลามีความยาว 3-5 นิ้ว บริเวณหัวมีสีเหลืองแกมเขียว ริมปากบนมีหนวดสั้นๆ 1 คู่ มีฟันที่คอหอยเพียงแถวเดียว จำนวน 4 ซี่ เวลากินอาหารทำปากยืดหดได้ เยื่อม่านตาเป็นสีแดงเรื่อๆ ครีบหลัง ครีบหู ครีบท้อง ครีบก้น มีสีชมพูแทรกอยู่กับพื้นครีบ ซึ่งเป็นสีเทาอ่อน หางค่อนข้างใหญ่และเว้าลึก ปลายี่สกไทยเป็นปลาขนาดใหญ่และมีความสวยงามชนิดหนึ่งในจำนวนปลาน้ำจืดด้วยกัน
ฤดูและแหล่งวางไข่ปลายี่สกไทย
ปลายี่สกไทยเป็นปลาที่วางไข่ในฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี (ชาวประมงในพื้นที่ระบุว่า อุณหภูมิและสภาพวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อการวางไข่ของปลายี่สกไทยด้วย ภายหลังพบว่า ปลายเดือนตุลาคม เริ่มพบปลายี่สกไทยแล้ว) ยี่สกไทย คำว่า "ยี่" เป็นภาษาอีสาน หมายถึง เดือนมกราคม ซึ่งเป็นเดือนที่พบปลายี่สกไทยมากในเดือนนี้ ปลาเพศผู้มีน้ำเชื้อดีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ระยะที่ปลาวางไข่มากที่สุด คือ ประมาณปลายเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือถ้านับทางจันทรคติ ประมาณกลางเดือนสาม ในต้นฤดูจะวางไข่ ปลาจะว่ายขึ้นเหนือน้ำไปยังแหล่งวางไข่ในลักษณะคู่ใครคู่มัน เมื่อถึงแหล่งวางไข่ จะรวมกันอยู่เป็นฝูงจับเป็นคู่ๆ เล่นน้ำตามริมตลิ่งในตอนบ่าย จับคู่เคล้าเคลีย และโดดขึ้นเหนือผิวน้ำส่งเสียงดังสนั่น พอพลบค่ำก็ว่ายออกไปวางไข่กลางแม่น้ำในขณะที่ปลาวางไข่ปลาจะเชื่องมากไม่ยอม หนีจากกัน ทำให้ถูกจับได้ง่าย ปลาตัวเมียที่ถูกจับได้ จะมีไข่ไหลออกมา บางครั้งต้องใช้ผ้าอุดไว้ไม่ให้ไข่ไหล ไข่ที่ได้ถ้านำไปผสมกับน้ำเชื้อตัวผู้จะได้รับการผสมดีมาก การพัฒนาทางเพศของปลาในฤดูผสมพันธุ์วางไข่พบว่า ปลาตัวผู้จะเปลี่ยนสีลำตัวเป็นสีคล้ำ อมม่วงและมีตุ่มสิว (pearl organ) ขึ้นบริเวณข้างแก้ม และครีบอก ในแม่น้ำโขงช่วงฤดูผสมพันธุ์ ปลายี่สกไทยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ๆ ฝูง ละ 30 – 40 ตัว บริเวณที่วางไข่อยู่ท้ายเกาะกลางน้ำ พื้นเป็นกรวดทราย ที่ระดับน้ำลึก 0.5-2 เมตร มีกระแสน้ำไหลวินาทีละ 1.3 เมตร ความโปร่งแสงของน้ำ 10 เซนติเมตร มีสัตว์หน้าดินชุกชุมมาก บริเวณท้ายเกาะจะต้องมีบุ่งหรือแอ่ง ซึ่งเป็นที่สะสมอาหารเมื่อปลาพร้อมที่จะวางไข่ ก็ว่ายน้ำออกท้ายเกาะตรงบริเวณที่กระแสน้ำไปไหลมาบรรจบกัน เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ปลายี่สกไทยมักจะวางไข่ในวันพระขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ ชาวประมงจะคอยสังเกตก่อนถึงวันพระ 3 วัน ถ้าเห็นปลาเริ่มจับคู่เล่นน้ำริมตลิ่งหลายคู่ แสดงว่าปลาจะต้องวางไข่ในวันพระที่จะถึงแน่นอน แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติอย่างกะทันหันเช่น ฝนตกหนัก หรือระดับน้ำเปลี่ยนแปลง ปลาจะเลื่อนการวางไข่ต่อไปอีก นอกจากนี้ ชาวประมงสังเกตว่า ก่อนที่ปลาจะวางไข่ ชาวประมงจะจับปลาสร้อยได้เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งปลาเทโพและปลากินเนื้อบางชนิด ชาวประมงตั้งข้อสังเกตว่าปลาสร้อยจะคอยกินไข่ปลายี่สก และปลาเทโพจะกินปลาสร้อยอีกต่อหนึ่ง ข้อสังเกตนี้ ชาวประมงให้ข้อมูลตรงกันว่า ปลาใหญ่จะมา ปลาเล็กจะว่ายหนี และถูกปลากินเนื้อไล่ตามกิน ดังนั้นก่อนที่ปลายี่สกไทยจะอพยพมาวางไข่ จะพบว่าปลาเล็ก เช่นปลาสร้อยจะตื่นตกใจว่ายมาก่อน และตามด้วยปลากินเนื้อ เช่น ปลาเทโพเสมอ เข้าลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก สมดุลกันตามหลักธรรมชาติ
ลักษณะไข่ของปลายี่สกไทย
ไข่ปลายี่สกเป็นไข่ครึ่งจมครึ่งลอย และสามารถยึดติดกับวัตถุได้ จะฟักออกเป็นตัวในเวลา ประมาณ 70 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 21.5-24.0 องศาเซลเซียส ไข่มีสีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 มิลลิเมตร เมื่อถูกน้ำจะพองออกเป็น 3 มิลลิเมตร ลูกปลาที่ฟักเป็นตัวใหม่ๆมีความยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร โดยแม่ปลายี่สกไทยที่หนักประมาณ 14 กิโลกรัม จะไข่ประมาณ 215 ฟอง/กรัม ของพวงไข่ 2,400 กรัม หรือจะให้ไข่ทั้งหมดที่ 500,000 ฟอง หลังจากวางไข่แล้ว ไข่ฟักเป็นตัวภายใน 3 วัน
การผสมเทียม
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะลี้ยงสัตว์น้ำจืดหนองคาย ประสบผลสำเร็จการผสม เทียมปลายี่สกไทย เมื่อปี พ.ศ.2517 โดยใช้พ่อแม่พันธุ์ธรรมชาติที่รวบรวมจากแม่น้ำโขง และเมื่อเดือนมกราคม 2533 สามารถใช้พ่อแม่พันธุ์ปลายี่สกไทยที่เลี้ยงในบ่อดินมาทำการเพาะพันธุ์ประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรก โดยแม่พันธุ์ขนาด 7.4 กิโลกรัม ซึ่งมีความสมบูรณ์เพศและฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ (suprefact) ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ (motilium) บริเวณที่ฉีดฮอร์โมนคือ ทางช่องท้อง ส่วนปลาเพศผู้ขนาด 5.0 กิโลกรัมมีเชื้อดี ไม่ต้องฉีดฮอร์โมน และล่าสุดก็สามารถเพาะพันธุ์โดยใช้พ่อแม่พันธุ์ปลายี่สกไทยที่ เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ในปี พ.ศ. 2552 โดยสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดราชบุรี (สํานักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด, 2553)
สถานการณ์ปัญหา
จากสถานการณ์แม่น้ำโขงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบอุทกวิทยาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติมีปริมาณลดลง จนหลายชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และยังกระทบต่อวิถีการประกอบอาชีพของชาวประมงริมฝั่งแม่น้ำโขงรวมถึงลำน้ำสาขาในหลายพื้นที่ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ศ.ทวนทอง จุฑาเกตุ ดร.ธนพร ศรียากูล และนางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ในนามผู้แทนสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) ได้ร่วมกันนำเสนอสถานการณ์ปัญหาการประมงแม่น้ำโขงต่อรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมประมง ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างความมั่นคงให้ทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น ได้มีการวางแนวทางเพื่อเร่งฟื้นฟูผลผลิตสัตว์น้ำ คืนความสมบูรณ์สู่ระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนและการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ในการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากร พร้อมฟื้นฟูและเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดอุปสรรคในการประกอบอาชีพให้กับชาวประมง โดยที่ผ่านมา ได้มีการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำประจำถิ่นสำหรับปล่อยคืนสู่แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา โดยเฉพาะ “ปลายี่สกไทย” หรือ “ปลาเอิน” ในภาษาถิ่นอีสาน อย่างต่อเนื่อง
บทความโดย สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน
ภาพถ่าย : ปรีชา ศรีสุวรรณ